21 ธันวาคม 2012
โลกยัีงคงปลอดภัยดี ไปอีกคราหนึ่ง เริ่มนับปฏิทินมายันรอบที่ 13
หน้าเว็บ
วันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555
"เสรี" ผวาปีนี้เกิดพายุ 31 ลูก
อาชีพเกษตรป่วนภาวะร้อนจัด-แล้งจัด-ฝนหนัก
“เสรี” ชี้ปี 2555 เป็นปีน้ำมาก มีพายุเกิดในภูมิภาค 31 ลูก ไม่สามารถระบุได้ว่าจะเคลื่อนเข้าไทยหรือไม่ ภาคใต้จ่อโดนฝนถล่มหนักมากกว่าค่าเฉลี่ย 20% เกษตรกรไทยจะพบกับภาวะร้อนจัด แล้งจัด ชงแนวคิดสร้างอ่างขนาดเล็ก–กลางกระจายพื้นที่รับน้ำ ดีกว่าสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ “โอฬาร” ชี้เขื่อนไทยถึงขีดจำกัดรองรับน้ำ จี้ กทม.ขุดลอกคลอง อย่าให้จังหวัดอื่นรับน้ำแทน
นายเสรี ศุภราทิตย์ คณะกรรมการยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) กล่าวในการสัมมนาหัวข้อ “การเกษตรไทยปรับตัวอย่างไรในยุคภัยพิบัติ” จัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว จะทำให้เกษตรกรไม่สามารถกำหนดแผนการเพาะปลูกตามฤดูกาลเดิมได้ ซึ่งมีงานวิจัยหลายสำนักบ่งชี้ไปในทางเดียวกันว่า ประเทศไทยหน้าร้อนจะร้อนจัด แล้งจัด หน้าฝนจะมีฝนตกหนัก ทำให้ยากที่จะบอกว่าน้ำท่วม หรือฝนตกเมื่อใด รัฐจึงต้องกำหนดแผนระยะยาว 10 ปี และ 20 ปีว่า จะมีแผนรับมืออย่างไร โดยเห็นว่าควรกระจายความเสี่ยงในการจัดการบริหารน้ำโดยเลือกสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก และขนาดกลาง กระจายให้เต็มพื้นที่ดีกว่าเลือกสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ อย่างเขื่อนแก่งเสือเต้น เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีใครสามารถพยากรณ์อากาศล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำว่าน้ำจะไหลลงเต็มเขื่อน และฝนจะตกลงในเขื่อนหรือไม่
ทั้งนี้ จากบทเรียนน้ำท่วมในปี 2554 ที่ผ่านมา หลายฝ่ายต้องการความเชื่อมั่นในการจัดการน้ำจากรัฐบาลไทย เช่น หอการค้าญี่ปุ่น ได้มาสอบถามรายละเอียดแผนการบริหารจัดการน้ำของ กยน. เนื่องจากเมื่อเปรียบเทียบกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิในญี่ปุ่น รัฐบาลมีการรายงานข้อมูลข้อเท็จจริงของเหตุ– การณ์เป็นรูปเล่ม และขอ โทษประชาชนว่ารัฐบาล ตั้งสมมติฐานความรุนแรงของปัญหาผิด เพราะความรุนแรงมากกว่าที่คาด 3-4 เท่า
ข้อมูลทั้งหมดนี้ทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไข ตามมาด้วยการปรับแก้ผังเมืองขนาดใหญ่ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลญี่ปุ่นอยู่ระหว่างการเจรจากับประชาชนในพื้นที่ที่ถูกจัดผังเมืองใหม่ ขณะที่ทางราชการไทยก็มีแบบผังเมือง แต่ลงมือปฏิบัติไม่ได้
นายเสรี กล่าวว่า ขณะนี้ยังตอบไม่ได้ว่าในปี 2555 นี้ น้ำจะท่วมกรุงเทพฯหรือไม่ แต่บอกได้ว่าพายุในภูมิภาคนี้จะเกิดมากถึง 31 ลูก แต่ยังตอบไม่ได้ว่าทิศทางของพายุจะเดินทางเข้าสู่ประเทศ ไทยหรือไม่ เพราะประเทศไทยสามารถพยากรณ์ทิศทางล่วงหน้าได้เพียง 7 วัน และพยากรณ์ได้แม่นยำที่สุดในระยะ 3 วัน ส่วนที่สามารถบอกได้ชัดเจน คือ ปี 2555 นี้ เป็นปีที่จะมีฝนมาก โดยเฉพาะในภาคใต้ฝนจะตกมากช่วงเดือน มี.ค.นี้ และค่าเฉลี่ยฝนจะเพิ่มขึ้น 20% จากอิทธิพลของปรากฏการณ์
ลานินญา ส่วนในภาคเหนือและภาคกลาง จะมีน้ำมากเช่นกัน แต่จะได้รับอิทธิพลจากพายุมากกว่าลานินญา
นายโอฬาร ไชยประวัติ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ความสามารถในการเก็บน้ำของเขื่อนหลักภาคกลาง 3 เขื่อน คือเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่สร้างเมื่อประมาณ 80 ปีก่อน ไม่สามารถรองรับน้ำได้เพียงพอ เพราะปี 2554 มีปริมาณฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยรอบ 30 ปี ถึง 30% จึงจำเป็นต้องระบายน้ำออกจากเขื่อน“วันนี้มีน้ำในเขื่อนใหญ่ 2 เขื่อนมากกว่า 90% แต่ประเด็นคือ เส้นทางการระบายน้ำที่กรุงเทพฯ มีอยู่แล้ว ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา และเส้นทางระบายน้ำ (ฟลัดเวย์) ทั้งฝั่งตะวันตก และฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งระบบท่อและอุโมงค์ของกรุงเทพฯ มีศักยภาพพอที่จะนำน้ำไปลงสู่อ่าวไทย ระบบเหล่านี้จะรับน้ำได้หรือไม่ ดังนั้นคูคลองที่ตื้นเขินต้องขุดลอก ขยะต่างๆต้องถูกจัดการในหน้าแล้ง เพื่อเตรียมความพร้อม เรื่องเหล่านี้ กทม.ต้องช่วยตัวเอง จะรอให้จังหวัดอื่นรับน้ำแทนเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้”
นายโอฬาร กล่าวว่า ประเทศไทยควรมีการทดสอบระบบระบายน้ำของลุ่มน้ำภาคกลาง ว่าจะสามารถรองรับน้ำได้มากน้อยเพียงใด และต้องเพิ่มประมาณการเก็บน้ำในภาคเหนือและภาคกลางตอนบน โดยการทำฝายและแก้มลิงขนาดเล็ก ที่ดำเนินการโดยชุมชน ระดับหมู่บ้านและตำบล และแนวคิดการกักเก็บน้ำ ต้องไม่ใช่เพื่อป้องกันไม่ให้ท่วมกรุงเทพฯเท่านั้น แต่ต้องสามารถนำน้ำไปใช้เพื่อการเกษตรในหน้าแล้งได้
“ผมคิดว่านี่เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญของภาคเหนือและภาคกลางตอนบนของไทย ส่วนในภาคกลางใต้ จ.นครสวรรค์ลงมา มีการทำนาปรังกันเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะต้องมีพื้นที่เก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ไว้สนับสนุนในช่วงหน้าแล้ง เมื่อถึงฤดูน้ำหลากรัฐก็ขอเช่าพื้นที่จากเกษตรกรประมาณ 3-4 เดือนเป็นแก้มลิงขนาดใหญ่ในการกักน้ำไว้ ช่วยชะลอน้ำไม่ให้เข้ามาท่วมในเขตอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลดูแลชดเชยให้ประชาชนที่สมัครใจ”.
ข้อมูลจาก http://m.thairath.co.th/content/eco/231947
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น